ทักษะและความรู้ในด้านการก่อสร้างของมนุษย์เริ่มมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคปฏิวัติเกษตรกรรม เนื่องจากมนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิตจากนักล่ามาเป็นเกษตรกรและอยู่รวมกันเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของหินแกรนิตที่เข้ามามีบทบาท และถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ในด้านการก่อสร้างมากขึ้น
เนื่องด้วยความแข็งแกร่งของหินชนิดนี้ที่มนุษย์ทราบกันเป็นอย่างดี จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างตั้งแต่อดีต มีหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่มีหินแกรนิตเป็นส่วนประกอบอยู่ในหลากหลายอารยธรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พีระมิดของชาวอียิปต์ กำแพงเมืองจีนในฝั่งเอเชีย มาชูปิกชูในอเมริกาใต้ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอารยธรรมเหล่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และถูกสร้างในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่กลับเลือกวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเดียวกันนั่นคือ หินแกรนิต
ในปัจจุบันมนุษย์มีการนำหินแกรนิตมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการทำเหมืองที่พัฒนาขึ้น โดยในปัจจุบันหินแกรนิตถูกนำมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นในการ ทำถนน ทำสะพาน หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มากมาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากฟังชันก์การใช้งานแล้ว ความงดงามยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลกับมนุษย์เป็นอย่างมาก สุนทรียภาพของที่อยู่อาศัย เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยยกระดับความสุขในชีวิตประจำวัน และนั่นก็เป็นประโยชน์อีกหนึ่งข้อของหินแกรนิต
หินแกรนิตเมื่อมาขัดมันจะมีลวดลายที่งดงามมาก จึงนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งที่พักอาศัยทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การนำมาปูพื้น ติดผนัง ทำเป็นท็อปเคาน์เตอร์ หรือนำมาทำโต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะทำงาน เป็นต้น
จึงไม่แปลกที่หินชนิดนี้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีประโยชน์ทั้งในด้านฟังชันก์การใช้งาน และความสวยงามครบเครื่องเลยทีเดียว
ย่อขนาดลงมาในสเกลที่เล็กกว่า นอกจากในแง่ของการก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรม อีกหนึ่งประโยชน์ของหินแกรนิต คือสามารถนำมาทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังที่เคยได้กล่าวไปก่อนหน้า มนุษย์มีการนำหินแกรนิตมาทำเป็นเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยยุคหินแล้ว
ในยุคเริ่มต้นเป็นการนำมาประยุกต์ใช้อย่างง่าย ๆ คือการทำเป็นอาวุธในการต่อสู้ ล่าสัตว์ หรือวัสดุที่คล้ายสากในปัจจุบันสำหรับใช้บดสิ่งต่าง ๆ พัฒนาผ่านกาลเวลาควบคู่มากับอารยธรรมของเรา
ปัจจุบันหินแกรนิต ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การนำมาทำเป็นครกและสาก ซึ่งมีทั้งความสวยงาม อีกทั้งยังแข็งแกร่งทนทาน จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
หินแกรนิตมีส่วนประกอบหลักคือ แร่ควอตซ์ (quartz) มีความแข็งตามมาตราโมสในระดับ 7 และแร่เฟลด์สปาร์ (feldspar) มีความแข็งในระดับ 6 ซึ่งนับว่ามีความแข็งเป็นอย่างมาก
จึงเป็นเหตุผลที่มนุษย์นิยมนำคุณสมบัติในด้านความแข็งแรงของหินแกรนิตมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ดังเช่น ทำเป็นทับหลังประตู ปูพื้นที่มีการสัญจรไปมามาก เป็นต้น ซึ่งหินแกรนิตสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากความสวยงาม ความทนทานยังเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่หินชนิดนี้มอบให้
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า หินแกรนิตมีความแข็งตามมาตราโมสในระดับ 6-7 จากส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีความแข็งมากกว่าเหล็กเสียอีก จึงมีแร่เพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถสร้างรอยขีดข่วนให้กับหินแกรนิตได้
ดังนั้นหินแกรนิตจึงได้รับความนิยมในการนำมาทำเป็นท็อปเคาน์เตอร์ครัว เพราะในบางครั้งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกับวัสดุที่เป็นเหล็ก อย่างเช่น มีด ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้หน้าหินเกิดรอยขีดข่วนหรือความเสียหาย
คุณอาจจะคิดว่าหินแกรนิตมีแค่สีดำหรือสีเทา แต่จริงๆแล้วหินแกรนิตมีสีสันที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นต้น
ซึ่งตัวกำหนดสีของหินแกรนิตคือแร่ธาตุส่วนประสมอื่น ๆ นอกจากแร่ธาตุหลักอย่าง แร่ควอตซ์และแร่เฟลด์สปาร์ ทำให้หินแกรนิตจากแต่ละเหมืองมีสีสันที่แตกต่างกัน เนื่องจากในแต่ละสถานที่มีแร่ธาตุส่วนประกอบที่แตกต่างกันนั่นเอง
นั่นทำให้เรามีตัวเลือกในการนำหินแกรนิตมาปรับใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น